ปัจจัยความเป็น'เมืองท่าโบราณ'มุมมองจากทะเลสู่ฝั่ง
โดย เอิบเปรม วัชรางกูร
แต่เดิมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาบ้านเมืองจากกลุ่มหรือหมู่บ้านขนาดเล็กไป เป็นเมืองใหญ่นั้น เชื่อว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรเป็นสำคัญ ทว่า หากเมืองนั้นๆ จะสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองท่า หรือเมืองหลวงได้กลับต้องมีปัจจัยอื่นๆ มาสนับสนุนด้วย ขนาดของความเป็น 'บ้าน' หมู่บ้าน ชุมชน เมือง เมืองท่า และเมืองหลวง จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำจืดเป็นลำดับแรก ในระดับ 'หมู่บ้าน' ยังต้องมีปัจจัยเพิ่มเกี่ยวกับอาหาร การทำเกษตรและ/หรือการประมง ในระดับ 'ชุมชน' ยิ่งจำเป็นต้องมีปัจจัยอื่น ได้แก่ ทรัพยากรแร่และของป่า ระดับเมืองต้องมีปัจจัยด้านเส้นทางเดินทางบกหรือทางช่องเขาเพิ่ม เช่นเดียวกับระดับ 'เมืองท่า' ที่นอกจากต้องมีปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ยังต้องมีที่จอดเรือหรือแหล่งกำบังลม อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสู่ความเป็น 'เมืองหลวง' ไม่จำเป็นต้องเป็นแหล่งเดียวกับเมืองท่าเสมอไป เมืองท่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวง โดยมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำเชื่อมถึง ระดับเมืองหลวงจำเป็นต้องมีปัจจัยทางการเมืองการปกครอง ระบบศาสนา ความเชื่อ พัฒนาการทางเทคโนโลยี เงื่อนไขของสงคราม และที่สำคัญต้องมีระบบกลไกการตลาดมาเอื้อ
ปมเหตุว่าด้วยการตั้งถิ่นฐาน
การศึกษาในระยะแรกเรื่องการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ เป็นการศึกษาโดยนักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน ตั้งแต่ พ.ศ.2442 เป็นการศึกษาแบบพรรณนา เน้นให้เห็นจำนวนประชากรที่ทำให้หมู่บ้านกลายเป็นชุมชนและขยายตัวขึ้นเป็น เมืองตามลำดับ เป็นการศึกษาเพื่อการวางผังเมือง การแก้ปัญหาประชากรและสิ่งแวดล้อม เมื่อเมืองเกิดปัญหา การศึกษาในแง่นี้ไม่ได้เน้นไปยังปัจจัยพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ในแนวทาง มานุษยวิทยา ซึ่งศึกษามนุษย์ตั้งแต่มีการรวมกลุ่มกันก่อนการตั้งถิ่นฐาน
แม้แต่การศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็ได้แต่บรรยายว่า ที่ใดเป็นเมืองสำคัญหรือเป็นศูนย์กลางการปกครอง โดยการตีความ การแปลความหมายจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีที่พบ โดยมิได้ตอบคำถามว่า ทำไมเมืองเหล่านี้จึงมีกำเนิดขึ้นที่นั่น และทำไมเมืองบางแห่งจึงเสื่อมลง ขณะที่เมืองบางแห่งยังคงทำหน้าที่สืบเนื่องจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองท่าโบราณชายฝั่งทะเลต่างๆ
ดังที่เกริ่นแล้วว่า ปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ คือน้ำจืดและอาหารที่ได้จากการเก็บของป่า-ล่าสัตว์ หมายรวมถึงการจับปลา น้ำจืดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งของการดำรงชีวิต ทำให้การเกษตรเป็นปัจจัยการพัฒนาโรงเรือนแบบโยกย้ายมาเป็นการตั้งถิ่นฐานริม ฝั่งน้ำ เกิดการตั้งบ้านเรือน เกิดหมู่บ้าน ทำให้เกิดลักษณะรูปร่างของชุมชน ที่เป็นไปตามรูปร่างของสถานที่ที่หาน้ำอุปโภคบริโภคและอาหาร รูปร่างของแหล่งน้ำจะเป็นตัวกำหนดรูปร่างชุมชนและชุมชนนั้น
หากมีปัจจัยอื่นสนับสนุนก็จะขยายตัว เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นเป็นเมือง เกิดศูนย์กลางประชาคมของเมืองทางเศรษฐกิจ การค้า การเมืองการปกครอง การขยายตัวของเมืองที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนประชากรจึงเริ่มขึ้น ทั้งการเพิ่มจากภายในและการอพยพโยกย้ายเข้ามา อันเนื่องมาจากการติดต่อ ค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน
ก่อนยุคอุตสาหกรรม การขนส่งทางน้ำสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากกว่าการขนส่งทางบก เมื่อเปรียบเทียบในแง่ปริมาณและเวลาต่อระยะทาง การขนส่งทางน้ำ หมายรวมถึงเรือชนิดต่างๆ แพไม้ไผ่และแพซุง ซึ่งขนส่งสินค้า เดินทางจากดินแดนภายในออกสู่ปากแม่น้ำมุ่งหน้าสู่เมืองท่าอื่นๆ ปริมาณสินค้าที่เรือแม่น้ำลำหนึ่งขนส่งได้อาจถึง 200-300 ตันต่อเที่ยว ขณะที่เรือสำเภาเดินทะเลจะขนส่งสินค้าได้ถึง 4,000 ตันต่อเที่ยว หรือมากกว่า
หลักฐานจากเอกสารของนักเดินทางชาวจีน เช่น โจว ต้า กวาน กล่าวว่า พ่อค้าชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานแถบเมืองลุ่มแม่น้ำต่างๆ ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 8 แม้ชุมชนบนพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำจะมีลักษณะเป็นชุมชนการเกษตร แต่การส่งออกผลผลิตจากการเกษตรกลับน้อยกว่า เรียกได้ว่าผลิตเพียงพอสำหรับชุมชนเท่านั้น สินค้าข้าวจึงเป็นที่ต้องการ จีนยอมลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีให้กับเรือสำเภาที่บรรทุกข้าวไปค้าขายกับ จีน ต่อมาเมื่อระบบการปกครองเปลี่ยนเป็นอำนาจรัฐรวมศูนย์แบบศักดินาในสมัยอยุธยา การส่งออกสินค้าชุมชนก็เปลี่ยนเป็นส่วยของป่าที่ส่งให้รัฐ เพื่อทดแทนการเกณฑ์แรงงาน โดยที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดการค้ากับต่างประเทศภายใต้ระบบศักดินาตลอดมาจนถึงการ เปลี่ยนแปลงในยุคการค้าเสรี ตามสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ.2398 ก่อนหน้านี้เล็กน้อย ใน พ.ศ.2363 (รัชกาลที่ 2) สินค้าออกของไทย ประเภทข้าว คิดเป็น 14.7% ของสินค้าทั้งหมด โดยที่สินค้าหลักที่ตลาดภายนอกต้องการ และเป็นสิ่งเกินต้องการหรือเหลือใช้ คือของป่า เช่น หนังสัตว์ ครั่ง น้ำผึ้ง รังนก งาช้าง ไม้สัก ไม้ฝาง หวาย เครื่องเทศ ฯลฯ นั่นหมายความว่าข้าวไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับหนึ่ง
สาระสำคัญของการเกิดเมืองท่า
การขนส่งทางน้ำอาจเริ่มจาก 'สถานีขนส่งสินค้า' ซึ่งอาจเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก อยู่ริมฝั่งน้ำทางตอนในแผ่นดิน ซึ่งมีเส้นทางติดต่อขนส่งสินค้าหลากหลายชนิด จำนวนน้อยจากต้นทางจากหลายแห่งมารวมกัน อาจเป็นการบรรทุกผ่านช่องเขามาทางบก และขนส่งผ่านทางลำน้ำย่อยล่องลงตามสาขาลำน้ำต่างๆ สู่ลำน้ำสายใหญ่
ขนาดและจำนวนของสถานีย่อยและสถานีใหญ่ขึ้นอยู่กับระยะทางของลำน้ำ ทั้งนี้ลักษณะลำน้ำก็มีผลในการขนส่งเช่นกัน กล่าวคือ ลำน้ำที่มีลักษณะคดเคี้ยว หรือมีเกาะแก่งกีดขวางมากย่อมเป็นอุปสรรคในการขนส่งมากกว่า ลำน้ำสายใหญ่และยาว ไม่มีสิ่งกีดขวาง ย่อมมีชุมชนหรือสถานีการค้าจำนวนมากและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอาจยกสถานะเป็น 'เมืองท่า'
เมืองท่านี้ต้องมีลักษณะทางกายภาพที่สมบูรณ์ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมไปถึงลักษณะภูมิประเทศชายฝั่งทะเลที่เอื้อต่อการจอดเรือ การขนส่งสินค้าขึ้นลงเรือ ไม่มีคลื่นลมแม้ในฤดูมรสุม เช่น อ่าวรูปโค้งกำบังลม หรือลำน้ำกว้างพอและลึกเข้าไปในปากแม่น้ำพอสมควร ดังนั้น เมืองท่าคือชุมชนปากแม่น้ำซึ่งเติบโตมาจากชุมชนริมน้ำขนาดเล็ก อยู่ริมลำน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล จะต้องเป็นย่านที่ลึกเข้ามาภายในปากแม่น้ำ ซึ่งพ้นจากน้ำทะเลหนุนและน้ำกร่อย มีน้ำจืดสมบูรณ์ เมืองท่าโบราณต่างๆ ริมฝั่งทะเล จึงไม่ได้เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนชายหาดริมทะเล
ปัจจัยสำคัญต่อมาคืออาหาร ผลผลิตการเกษตร ทรัพยากรแร่ธาตุวัตถุดิบและสินค้า รวมทั้งเส้นทางการขนส่งสินค้าที่ติดต่อกับดินแดนภายในได้สะดวก ซึ่งในเวลาต่อมาการพัฒนาการทางเทคโนโลยีการขนส่ง ทำให้การขนส่งทางบกซึ่งรวดเร็วกว่า ก้าวนำหน้ามาเป็นการขนส่งที่ได้รับความนิยม แต่การขนส่งขนาดใหญ่ ปริมาณสูง ยังคงเป็นการขนส่งทางน้ำที่ดำเนินอยู่ต่อไป เมืองท่าแห่งใดที่มีปัจจัยสมบูรณ์ทุกด้านหรือมากกว่าย่อมมีศักยภาพในการขยาย ตัวมากกว่าเมืองอื่นๆ แม้ว่าจะตั้งอยู่ใกล้ และมีสภาพภูมิประเทศคล้ายกัน ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างของการเจริญเติบโตระหว่างเมืองตรังกับสตูล เมืองจันทบุรีกับระยอง เพชรบุรีกับประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ย้ายเมืองเพราะการขนส่งเสื่อม
นักภูมิศาสตร์และนักธรณีวิทยาตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า ชายฝั่งทะเลในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 น่าจะอยู่ในระดับลานตระพักทะเล (Marine terrace) ช่วงที่มีความสูงระหว่าง 3.5-4 เมตร จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน ดังนั้นแนวชายฝั่งทะเลเดิม น่าจะเป็นอ่าวลึกเข้าไปในแผ่นดิน และเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่อยู่รอบๆ เมื่อชายฝั่งทะเลถอยร่นออกไปมากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทางน้ำสายหลักและ สายรอง ทำให้หลายเมืองที่ได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องย้ายเมือง ตัวอย่างการย้ายเมืองที่เกิดจากการถอยร่นของชายฝั่งทะเล ได้แก่ เมืองอู่ทอง เมืองที่มีบทบาทเป็นเมืองหลวงและเมืองท่าสำคัญของรัฐทวารวดีในยุคแรก(พุทธ ศตวรรษที่ 9-13) และมีเมืองนครปฐมโบราณซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นเมืองหลวงและเมืองท่า สำคัญในสมัยทวารวดียุคหลัง (พุทธศตวรรษที่ 13-16)
แต่เดิมมีข้อสมมติฐานว่า การย้ายเมืองหลวงของทวารวดีมีสาเหตุจากการอดอยากหรือเกิดโรคระบาด ทว่าหากพิจารณาในมุมมองการค้าและการขนส่งอาจทำให้เกิดข้อสมมติฐานใหม่ สาเหตุที่ทำให้เมืองอู่ทองซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญต้องลดความสำคัญลง อาจเกิดจากการที่ลำน้ำจระเข้สามพันตื้นเขิน ทำให้เรือเดินลำน้ำไม่สามารถเข้าไปรับสินค้าของป่าเพื่อถ่ายเทสินค้าได้ อย่างเคย พ่อค้าจึงเลือกสถานีขนส่งแห่งใหม่ที่สะดวกรวดเร็วกว่า ได้แก่ เมืองสุพรรณบุรีและเมืองนครปฐม (สมมติฐานนี้มีข้อสนับสนุน คือเมื่อรัฐบาลตัดถนนมาลัยแมนจากนครปฐมผ่านไปอำเภออู่ทอง เมื่อปี พ.ศ.2480 ทำให้เศรษฐกิจเมืองอู่ทองกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ต่อเมื่อมีการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ทำให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรีไม่ต้องผ่านอู่ทอง บทบาทของอู่ทองด้านการค้าและการคมนาคมก็ลดลงอีกครั้ง) ในอีกกรณี เช่น เมืองท่าโบราณที่เมืองศรีมโหสถหรือเมืองพระรถ ปราจีนบุรี และเมืองพระรถ พนัสนิคม ชลบุรี เป็นเมืองท่าโบราณสมัยทวารวดีริมลำน้ำบางปะกง มีอายุอยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับเมืองดงละคร นครนายก และเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี เมืองท่าโบราณทางภาคตะวันออกเหล่านี้ เป็นตลาดการค้าแรกเริ่มในย่านนี้ ก่อนระยะชายฝั่งทะเลถอยร่น มีกลุ่มชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นราวสมัยอยุธยา การที่ชาวจีนไม่มีพันธะผูกพันเรื่องส่วยและการเกณฑ์แรงงาน ทำให้ชาวจีนมีโอกาสทำการค้ากับรัฐ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้า เช่น น้ำตาล พริกไทย รวมถึงการทำหน้าที่จัดเก็บส่วยส่งให้ส่วนกลาง ระยะเวลานี้เกิดเมืองท่าใหม่คุมอำนาจการค้าบริเวณที่ลุ่มปากแม่น้ำบางปะกง คือเมืองศรีพโล และเมืองบางปลาสร้อยที่เริ่มมีชื่อปรากฏอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 20) และกลายเป็นเมืองชลบุรีในปัจจุบัน
ลักษณะเช่นนี้คือ การเปลี่ยนระบบสินค้าจากการจัดเก็บส่วยส่งส่วนกลาง มาเป็นการจัดเก็บภาษี ในขณะเดียวกัน การเป็นเมืองท่าค้าขาย ก็ยังคงทำหน้าที่เดิมมาจนปัจจุบัน และมีปัจจัยเสริมการขยายตัวในเรื่องการเมืองการปกครอง เทคโนโลยีของการคมนาคมขนส่งที่เปลี่ยนไปเป็นการขนส่งทางบกซึ่งรวดเร็ว รวมไปถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในปัจจุบัน
เมืองท่าโบราณภาคใต้
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้คาบสมุทรนี้มีร่องรอยอารยธรรมยาวนาน น่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่กั้นกลางการติดต่อระหว่างจีนและ อินเดีย ซึ่งทั้งสองฟากต่างมีสินค้าที่อีกฟากหนึ่งต้องการ และดินแดนที่เป็นที่พักระหว่างทางก็อยู่บนพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งในการพักหลบมรสุม การเก็บและส่งต่อสินค้า อีกทั้งย่นระยะการเดินทางให้สั้นลงไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูที่มีโจรสลัดชุกชุม ทำให้ผู้คนมาอยู่อาศัยมากขึ้น พัฒนาเป็นรอยอารยธรรมที่สืบเนื่องยาวนาน และยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่องนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน พื้นที่นี้เป็นที่กำเนิดเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่ง เมืองปัตตานีซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นศูนย์กลางการค้าและ เมืองท่านานาชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีที่ตั้งเมืองหลายแห่งใกล้เคียงกันตามเวลาที่ผ่านไป ได้แก่ เมืองโบราณยะรัง มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-15 เมืองสมัยต่อมาที่กรือเซะ และเมืองปัตตานีปัจจุบันที่จะบังติกอ ซึ่งเป็นท่าเรือประมง และที่ตั้งศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองปัจจุบัน เชื่อว่าเดิมมีชื่อว่า ลังกาสุกะ มีที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองยะรัง เป็นเมืองท่าปากแม่น้ำที่ต่อมาตื้นเขินจากภาวะทะเลถดถอย ปากแม่น้ำกลายเป็นป่าชายเลนที่ชายฝั่งทะเลถอยห่างออกไปตามเวลา เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบ ทางน้ำจึงเปลี่ยนไปมาตลอดเวลา เนื่องจากปัตตานีเป็นเมืองท่าสำคัญตั้งแต่โบราณ การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่ตั้งเมืองจึงขยายตามออกมาใกล้ชายฝั่งมากขึ้น เป็นการขยับตัวตามแนวลำน้ำที่เปลี่ยนไป ที่จังหวัดกระบี่ ร่องรอยการติดต่อค้าขายทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ที่ ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม พบหลักฐานที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมกรีก อาหรับ อินเดีย และจีน เป็นเครื่องมือหิน เครื่องประดับทำด้วยดินเผา แก้ว และแร่รัตนชาติ กำหนดอายุได้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 5-12 ปัจจุบันโบราณวัตถุต่างๆ เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม ชุมชนที่คลองท่อมนี้น่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองท่าเรือขนถ่ายสินค้า ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับโลกตะวันตก มีการตรวจตรา เก็บกักสินค้า เก็บภาษี โดยสังเกตจากเศษตะเกียงดินเผาโรมัน ลูกปัดสุริยเทพหรือลูกปัดหน้าคนแบบอียิปต์หรือโรมัน รวมไปถึงตราประทับอักษรสันสกฤตของอินเดียอ่านว่า ทาตวยัง แปลว่า ควรให้, สมควรให้ (อนุมัติ)
นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีเชื่อว่าดินแดนแถบนี้คือ เมือง 'ตะโกลา' ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ของคลอดิอุส ปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก
ชุมชนนี้ถูกทิ้งร้างไปในสมัยต่อมา มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะเกิดโรคระบาด หรือถูกรุกรานจากกลุ่มทมิฬทางอินเดียใต้ซึ่งแผ่อำนาจมายึดคาบสมุทรมาลายู อยู่ถึง 20 ปี ก่อนที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (จันทรภานุ) มีอำนาจเข้มแข็งขึ้นและไปตีเกาะลังกาถึง 2 ครั้ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการตั้งสุโขทัยเป็นราชธานี (ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช) แต่ในอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้มากคือ ชุมชนคลองท่อมมีปัจจัยแวดล้อมเบื้องต้นครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปโภคบริโภคและทรัพยากรสนับสนุนการผลิตเครื่องแก้ว ลูกปัด แต่ชุมชนคลองท่อมไม่มีเส้นทางติดต่อกับชุมชนอื่นทางบกหรือลำน้ำติดต่อขนส่ง สินค้ากับดินแดนภายใน มีเพียงคลองท่อมซึ่งเป็นลำน้ำสายสั้นๆ เท่านั้น ไม่เป็นลำน้ำที่มีคุณสมบัติมากพอด้านการขนส่งสินค้ากับดินแดนภายใน ความเหมาะในพื้นที่ คือเหมาะแก่การจอดเรือ มีสินค้าที่ผลิตขึ้นตามความนิยม เป็นที่ต้องการของตลาดเฉพาะกาล ดังนั้นการเกิดชุมชนคลองท่อมที่มีผลผลิตเฉพาะตัวดังกล่าวจึงเป็นไปโดยการที่ มีทรัพยากรจำกัดที่เหมาะสมเฉพาะกิจ ในปัจจัยเบื้องต้นเท่านั้น การย้ายเมืองออกสู่ปากน้ำที่ตัวเมืองกระบี่ในยุคต่อมา (เดิมที่ตั้งเมืองอยู่ที่เมืองปกาไส ปัจจุบันคือตำบลปกาไส เป็นเมืองที่ขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช มีกำเนิดจากการเป็นย่านจับช้างป่า ภายหลังคลองปกาไสตื้นเขิน จึงย้ายมาตั้งใกล้ทะเลที่ปากแม่น้ำกระบี่ที่เป็นตัวเมืองในปัจจุบัน) โดยที่มีคลองกระบี่น้อยและคลองกระบี่ใหญ่เป็นชื่อเดิมอยู่แล้ว จึงตั้งชื่อเป็นเมืองกระบี่ตั้งแต่นั้น
ตรังในยุคประวัติศาสตร์ มีร่องรอยของความเป็นชุมชนศรีวิชัยในราวปีพุทธศตวรรษที่ 12-15 เช่นเดียวกัน ทั้งสองฝั่งแม่น้ำตรังแถบอำเภอห้วยยอด มีหลักฐานเป็นพระพิมพ์ดินดิบแบบศรีวิชัย ที่ชาวบ้านเรียกว่าพระผีทำ แสดงถึงการติดต่อกันทางบกระหว่างทะเลฝั่งตะวันตกกับทะเลฝั่งตะวันออก โดยเป็นเส้นทางสายสำคัญสายหนึ่งในหลายสายของเส้นทางขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทร แม่น้ำตรังเป็นแม่น้ำสายยาว ต้นน้ำมีเส้นทางทางบกบริเวณอำเภอทุ่งสง นครศรีธรรมราช ติดต่อกับต้นแม่น้ำตาปีที่ไหลลงอ่าวไทยที่สุราษฎร์ธานี เป็นแม่น้ำสายกว้าง เรือขนาดใหญ่สามารถแล่นเข้าได้ลึกถึงดินแดนภายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีท่าเรือใหญ่ในเขตอำเภอเมือง เรียกว่าท่าจีนและเหนือขึ้นไปยังมีบ้านอู่ตะเภา และบ้านทุ่งทัพเรือ เมืองตรังเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรนครศรีธรรมราช และเมื่อนครฯ กลายเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาในสมัยต่อมา ตรังซึ่งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของนครศรีธรรมราช ก็ยังคงบทบาทในการเป็นเส้นทางการค้าสำคัญของสองฝั่งมหาสมุทรต่อมาจนปัจจุบัน
เมื่อ มีเส้นทางคมนาคมทางบกโดยมีทางรถยนต์และรถไฟ ตรังก็เปลี่ยนหน้าที่จากการเป็นเมืองท่าขนส่งสินค้าจากดินแดนภายในทางเรือ มาเป็นเมืองท่าที่รับสินค้าจากการขนส่งทางบก สู่ทะเลภาคใต้จนถึงปัจจุบัน
ปัจจัยสนับสนุนส่วนอื่นๆ ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน คือการดูแลรักษาผลประโยชน์ของแต่ละเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากระยะหลังจากสมัยการล่าอาณานิคม การคุ้มครองผลประโยชน์อาจทวีความรุนแรง เป็นการเข้ายึดครองพื้นที่ การยึดครองเส้นทางขนส่งสินค้า กลายป็นสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้อาจหมายรวมไปถึงการเมือง การปกครอง ที่ใช้คติความเชื่อทางศาสนาเข้าช่วย ผสมผสานกับเทคโนโลยีการก่อสร้าง การพยายามเอาชนะธรรมชาติ ทำให้ปัจจัยของการตั้งเมืองท่าในสมัยปัจจุบัน แตกต่างไปจากกำเนิดเมืองท่าในสมัยโบราณ
เส้นทางการขนส่งสินค้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิด เติบโต และสลายตัวของเมืองท่า นอกเหนือไปจากปัจจัยการดำรงชีวิต ที่เป็นต้นกำเนิดของชุมชน
No comments:
Post a Comment